ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา-ความเชื่อ และวิริยะ-ความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา.
ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาปรารภวิสาขบูชาทั้งมีความมุ่งหมายแต่เพียงเพื่อจะเป็นเครื่องชี้แจงให้กระทำในใจให้แยบคาย ให้ได้รับประโยชน์อานิสงส์จากการทำวิสาขบูชาให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้. ดังนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลาย จงตั้งใจฟังโดยแยบคาย ให้สำเร็จประโยชน์เถิด.
การที่จะได้รับอานิสงส์ของวิสาขบูชาเต็มที่นั้น จะต้องกระทำในใจให้เป็นอย่างดี ให้เกิดความรู้สึกในพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เกิดศรัทธา ให้เกิดปิติ ให้เกิดปราโมทย์ โดยแท้จริงขึ้นมา จึงจะมีผลเต็มที่ตามความมุ่งหมาย. ด้วยเหตุฉะนี้เราจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ตามสมควรเป็นสำดับไป.
ข้อแรกที่สุด จะต้องระลึกถึงข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง. สัตว์ทั้งหลายรวมทั้งตัวเราด้วยได้รับประโยชน์จากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้: อาจจะได้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ก็ได้ หรืออย่างน้อยก็ได้มากกว่าสัตว์ที่ไม่เคยได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์. แต่ที่จะให้ได้มากที่สุดนั้น ก็คือ การปฏิบัติตามคำสั่งสอนให้ได้มากเท่าไร.
ส่วนวันนี้นั้น เป็นวันที่กำหนดไว้สำหรับ ระลึกถึงพระคุณอันนั้นเป็นประจำปี ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามีความสำคัญแก่วันเช่นนี้นั้น ดังที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว ก็คือว่าเป็นวันประสูติ เป็นวันตรัสรู้ และเป็นวันปรินิพพาน ; กล่าวอย่างปาฏิหาริย์ว่าเป็นวันเดียวกัน คือวันเช่นวันนี้. นี้ก็เป็นการเชื่อถือของพุทธบริษัทกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มของพุทธบริษัทฝ่ายเถรวาทอย่างประเทศไทยเรา. ส่วนพุทธบริษัทฝ่ายอื่น เช่นฝ่ายมหายานเป็นต้นนั้น หาได้ถือว่าพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกันเช่นวันนี้ไม่.
ข้อนี้ เรามีความเข้าใจกันอย่างไร จึงจะไม่เป็นที่ขัดขวางกัน? ถ้าสมมุติว่าคนที่เป็นนักศึกษาแห่งยุคปัจจุบันจะมาพูดขึ้นว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เราจะมีคำอธิบายกันอย่างไร?
ถ้าเราจะยึดถือเอาว่า การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน มีในวันเดียวกัน เช่นในวันนี้นั้น ก็จะกล่าวได้ว่าเป็นการถือในลักษณะที่เป็นปาฏิหาริย์ และถือว่าสิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์นั้นก็มีได้จริง และมีอยู่จริง.
แต่ถ้าว่าจะให้เป็นที่เข้าใจได้สำหรับคนสมัยปัจจุบัน ก็จะต้องแปล ความสำคัญของ ๓ คำนี้ ให้เป็นที่ถูกต้อง กล่าวคือคำว่า “ประสูติ” ก็ดี คำว่า“ตรัสูร้” ก็ดี คำว่า “ปรินิพพาน” ก็ดี แม้จะแตกต่างกันโดยคำพูด แต่ความหมายนั้นเป็นอย่างเดียวกันถ้าพูดอย่างภาษาคนธรรมดาประสูติก็คือประสูติ ตรัสรู้ก็คือตรัสรู้ ปรินิพพานก็คือปรินิพพาน คือ การเกิด การตรัสรู้ และการตาย; แต่ถ้าจะพูดอย่างภาษาธรรม คือเป็นภาษาที่ลึกซึ้งกว่าธรรมดา ซึ่งเป็นภาษาที่ผู้รู้เขาพูดกันแล้ว การประสูติ การตรัสรู้และการปรินิพพาน ก็มีทางที่จะเป็นสิ่งสิ่งเดียวกันได้:
การประสูติ ก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า มิได้หมายถึงการเกิดขึ้นจากทั้งพระมารดา อย่างนี้ก็ได้. คำว่า เกิดในที่นี้ คือเกิดเป็นพระพุทธเจ้า. เกิดเมื่อไร? เกิดในขณะที่เป็นการตรัสรู้. เกิดที่ไหน? เกิดที่โคนต้นโพธิ์นั่นเอง. แต่ถ้ากล่าวอย่างภาษาธรรมดา ก็เกิดที่สวนลุมพินี ใต้ต้นสาละ; อย่างนี้มันก็ต่างกัน. แต่ถ้าถือว่า การเกิดเป็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ คือการเกิดอย่างแท้จริงของพระพุทธเจ้า. การเกิดอย่างธรรมดาสามัญมันก็เหมือนๆ กันทุกคน ไม่น่าสนใจอะไร. การเกิดที่น่าสนใจคือ การเกิดเป็นพระพุทธเจ้า. พระองค์ก็ได้เกิดหรืออุบัติขึ้นในโลกนี้ ในลักษณะที่เป็นโอปปาติกะกำเนิด คือเกิดผลุงขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้า ที่ใต้โคนต้นโพธิ์นั่นเอง.
ทีนี้ การตรัสรู้ ก็หมายความว่า มีการเกิดเป็นพระพุทธเจ้า.เพราะฉะนั้นการเกิดเป็นพระพุทธเจ้า กับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นั้นเป็นสิ่งเดียวกัน.
ทีนี้ก็มาถึง ปรินิพพาน ปรินิพพาน แปลว่า ดับสนิท ดับรอบ; นี้หมายถึง การสิ้นไปแห่งกิเลส มิได้หมายถึงการแตกตายทำลายของร่างกาย ซึ่งมันไม่มีความหมายอะไร ไม่มีประโยชน์อะไร. ตรงนี้ จะต้องวินิจฉัยกันถึงคำว่า“ปรินิพพาน” สักหน่อย.
นิพพาน มีอยู่ ๒ อย่าง ตามที่เข้าใจกัน คือ สอุปาทิเสสนิพพาน และ อนุปาทิเสสนิพพาน. ถ้าถือเอาตามคำอธิบายในพระคัมภีร์ไตรปิฎกเอง เช่น คัมภีร์อิติวุตตกนิบาต เป็นต้นนิพพาน ๒ อย่างนี้ มีความหมายเป็น การสิ้นไปแห่งกิเลสในขณะที่ยังเป็นๆ ไม่เกี่ยวกับการตายเลย. แต่ที่สอนกันอยู่ในที่บางแห่งหรือที่โรงเรียน สอนกันว่า สอุปาทิเสสนิพพานนั้นหมายถึงสิ้นกิเลส อนุปาทิเสสนิพพานนั้นหมายถึง ตายทำลายเบญจขันธ์ ; อย่างนี้ไม่ถูกต้องตามพระบาลี ซึ่งมีอยู่ใน คัมภีร์อิติวุตตกะ ในพระไตรปิฎก
จะเปรียบความข้อนี้ให้เห็นชัดๆ ก็ต้องเปรียบด้วยนิพพานของวัตถุ เช่นว่า ถ่านไฟแดงๆ เอาน้ำสาดให้ดับเป็นสีดำ; ดับสนิทแล้ว แต่ไออุ่นหรือความร้อนยังมีอยู่ ต้องรอไปอีกระยะหนึ่งความอุ่นหรือไอร้อนนั้นจึงจะเย็นสนิท. สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง เมื่อแรกดับ ไออุ่นยังเหลืออยู่ คือพระอรหันต์เมื่อแรกปรินิพพานในลักษณะอย่างนี้ ยังมีอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ที่(ยัง)เคยชินต่อการกระทบตามธรรมดาสามัญมาแต่หนหลัง ; ดังนั้นเมื่อมีอะไรมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ย่อมมีความรู้สึกต่อเวทนานั้นบ้าง. แต่ถ้าเมื่อใด เป็นพระอรหันต์โดยกาลเวลาล่วงไปๆ แล้ว มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ อายตนะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงแล้ว แม้จะมีอะไรมากระทบ ก็ไม่มีความูร้สึกที่เป็นความโกลาหล ก็ไม่รู้สึกเป็นเวทนาชนิดที่ทำลายความสงบขอให้สังเกตความแตกต่างอย่างนี้ แล้วก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า สิ่งที่เรียกว่า“นิพพาน” ก็ดี “ปรินิพพาน” ก็ดี หรือ“นิพพานธาตุ”ก็ดี บรรลุได้ในขณะที่ร่างกายยังเป็นๆ ยังไม่ต้องตาย. การจะพูดว่า อนุปาทิเสสนิพพาน บรรลุได้เมื่อตายนั้น มันจะมีประโยชน์อะไร. เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันมีประโยชน์เต็มที่ คือเย็นสนิทเรื่อยไป จนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของเบญจขันธ์ที่จะแตกทำลายไปตามธรรมดา; การตายตามธรรมดา ไม่ใช่นิพพาน.
นิพพาน อยู่ที่ความสิ้นไปแห่งกิเลส ในตอนแรกๆ ยังมีไออุ่นเหลืออยู่ ในตอนถัดมาหมดไออุ่นสิ้นเชิง เย็นสนิทแล้ว. พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงอนุปาทิเสสนิพพาน โดยข้อความต่างกันนิดเดียวว่า“เวทนาทั้งหลายของเธอนั้น จักเป็นของเย็น” หมายความว่ามี ตา หู จมูก กาย ใจ ชนิดที่อะไรๆ มากระทบแล้ว ทำความวุ่นวายระส่ำระสาย(แก่ใจ - webmaster)ไม่ได้. ไม่เหมือนกับเมื่อแรกเป็นพระอรหันต์ตอนนั้นยังมีความเคยชินในการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ แล้ววุ่นวายได้ แม้ไม่เกิดกิเลส ก็มีความรู้ลึกกระวนกระวายบ้างในบางกรณี.
เมื่อเป็นดังนี้ จึงมีหลักเกณฑ์ที่จะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า“นิพพาน” นั้น ไม่ใช่หมายถึงการตายทางร่างกาย แต่หมายถึงการตายของกิเลส การตายของสิ่งที่เรียกว่า ตัวกู-ของกู เมื่อตัวกู-ของกู ดับไป ก็เรียกว่าปรินิพพาน. และ ตัวกู-ของกู หรือกิเลส นี้ดับไปเมื่อไรสำหรับพระพุทธเจ้า? มันก็ดับไปแล้วเมื่อตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ นั่นเอง.
เพราะฉะนั้น ที่ตรงโคนต้นโพธิ์นั้นเอง มีทั้งการประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น