วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พุทธศาสนาในประเทศไทย พระไพศาล วิสาโล


พุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้น มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือนิพพาน อันเป็นผลจากการมีปัญญาเห็นความจริงแจ่มแจ้งว่าสิ่งทั้งปวงนั้นล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดติดถือมั่น เมื่อจิตปล่อยวางสังขารทั้งปวงได้ ก็เป็นอิสระจากความทุกข์ อย่างไรก็ตามชาวพุทธไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ มุ่งหวังเพียงแค่ความสำเร็จในทางโลก หรือประโยชน์ปัจจุบันที่จับต้องได้ เช่น ทรัพย์ สุขภาพ งานการ และครอบครัว รวมทั้งปลอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง รองลงมาคือ การมีชีวิตหน้าที่ผาสุกหรือเป็นสุคติ เช่น บังเกิดในสวรรค์ มีส่วนน้อยที่มุ่งนิพพาน อย่างไรก็ตามปัจจุบัน การมีนิพพานเป็นเป้าหมาย ได้กลายเป็นอุดมคติของชาวพุทธจำนวนมากขึ้น รวมทั้งฆราวาสชนชั้นกลางที่มีการศึกษา แม้ว่าแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานนั้น ยังมีความแตกต่างกันอยู่

                                     พุทธศาสนาในประเทศไทย                                                        พระไพศาล วิสาโลพุทธศาสนาที่แพร่หลายในประเทศไทย (ซึ่ง นิยมเรียกว่าเป็นพุทธศาสนาแบบ “เถรวาท” มากกว่า “หินยาน”) มีต้นทางจากประเทศศรีลังกาไม่น้อยกว่า ๘๐๐ ปี ดังนั้นจึงมีลักษณะหลายประเทศคล้ายกับที่นับถือในประเทศศรีลังกา เช่น การแบ่งพระภิกษุเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ อรัญวาสี คือ พระที่อยู่ป่า เน้นด้านการปฏิบัติกรรมฐาน กับ คามวาสี คือ พระที่อยู่เมืองหรือบ้าน เน้นด้านปริยัติ โดยมุ่งศึกษาและรักษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ซึ่งทำให้การนับถือพุทธศาสนาของคนไทยมีการแบ่งแยกค่อนข้างชัดเจน ระหว่าง การศึกษาตำรา กับ การปฏิบัติ โดยเฉพาะในปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามของบุคคลอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสที่ประสานการศึกษาและปฏิบัติเข้าด้วยกัน และได้รับความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นกระแสรองอยู่
พระสงฆ์ไทยหากแบ่งเป็นทางการจะมี ๒ นิกาย คือ มหานิกาย กับธรรมยุต นิกายหลังนั้นเกิดขึ้นจากความพยายามปฏิรูปพุทธศาสนาเมื่อ ๑๗๕ ปีที่แล้ว มหานิกายนั้นประกอบด้วยพระสงฆ์ประมาณร้อยละ ๘๐ ของทั้งประเทศ ในความเป็นจริงพระที่ถูกเรียกว่ามหานิกายนั้นหาได้มีแบบแผนการปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวไม่ แต่มีความหลากหลายมาก ที่จริงควรเรียกว่า นิกายที่ไม่ใช่ธรรมยุตมากกว่า (non-dhammayut) เพราะมหานิกายเป็นคำที่เกิดขึ้นหลังจากมีคณะธรรมยุตแล้ว ใช้เรียกพระทั้งหมดที่ไม่สังกัดธรรมยุติกนิกายซึ่งในเวลานั้นมีหลากหลาย “นิกาย” มาก แต่ภายหลังได้ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวอย่างเป็นทางการ (แต่ก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่มีแนวปฏิบัติและคำสอนเฉพาะตน แตกต่างจากคณะสงฆ์ส่วนใหญ่) อย่างไรก็ตามในเมืองไทยยังมีพระสงฆ์ที่ไม่ใช่เถรวาทด้วย ได้แก่ พระสงฆ์จีนนิกาย และอันนัมนิกาย แต่เป็นส่วนน้อยมาก นอกจากนั้นยังมีภิกษุณีซึ่งปัจจุบันมีจำนวนหลายสิบรูปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากมหาเถรสมาคม
ปัจจุบันพระสงฆ์ที่สังกัดทั้งสองนิกาย มีแนวทางการปฏิบัติและคำสอนคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างตรงประเด็นปลีกย่อย ดังนั้นประชาชนที่เลือกนับถือพระสงฆ์นิกายใดนิกายหนึ่งจึงมีความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติที่ไม่สู้แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็นับถือพระสงฆ์ทั้งสองนิกาย ไม่มีการแบ่งแยก
ทั้งมหานิกายและธรรมยุตล้วนอยู่ภายใต้องค์กรสงฆ์เดียวกัน โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข มีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรบริหาร ซึ่งมีตัวแทนของมหานิกายและธรรมยุตจำนวนเท่ากัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ที่เหลือได้มาจากการแต่งตั้ง คณะสงฆ์ไทยนั้นได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาล อีกทั้งยังต้องพึ่งอำนาจรัฐในการรักษาเอกภาพในคณะสงฆ์ นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรียังมีหน้าที่เสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นสมเด็จพระสังฆราชเพื่อให้พระมหากษัตริย์สถาปนา ดังนั้นคณะสงฆ์กับรัฐจึงมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก ความสัมพันธ์ดังกล่าวจัดว่าเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาไทยเมื่อเทียบกับพุทธศาสนาแบบเถรวาทในประเทศอื่น ๆ ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพุทธศาสนากับรัฐ ยังเห็นได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ อีกทั้งพิธีการของรัฐ มักมีพิธีการทางพุทธศาสนามาเกี่ยวข้อง จึงกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทยอยู่กลาย ๆ แม้ไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม
พุทธศาสนาไทยให้ความสำคัญกับบทบาทของพระสงฆ์มาก ในอดีตพระสงฆ์เป็นผู้นำทั้งทางธรรมและทางโลก คือไม่เพียงให้การอบรมทางด้านศีลธรรมและการพัฒนาจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ท่านยังสงเคราะห์ประชาชนในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การศึกษา วัฒนธรรม การแพทย์ และการพัฒนาชุมชน อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน พระสงฆ์มีบทบาทลดน้อยลง(พร้อม ๆ กับปริมาณที่ลดลงด้วย) วัดมิได้เป็นศูนย์กลางของชุมชนต่อไป โดยเฉพาะในเมือง พระมีบทบาทด้านพิธีกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะงานศพ ด้วยเหตุนี้คำสอนทางพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนสมัยใหม่น้อยมาก การศึกษาสมัยใหม่ ตลอดจนสื่อมวลชนและระบบเศรษฐกิจซึ่งเน้นความสำเร็จทางโลก เช่น ความมั่งคั่งร่ำรวย มีอิทธิพลมากกว่า ค่านิยมดังกล่าวกลับมามีอิทธิพลต่อพระสงฆ์จำนวนไม่น้อย ทำให้คำสอนของท่านเน้นความสำเร็จทางโลก มากกว่าการลดละกิเลส หรือการเข้าถึงความสุขทางจิตใจ
ชาวพุทธไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการทำบุญมาก การทำบุญในพุทธศาสนานั้นแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ ทาน ศีล ภาวนา ส่วนใหญ่แล้วการปฏิบัติทางศาสนาของชาวพุทธไทยจะเน้นหนักที่การให้ทาน หรือการประกอบพิธีกรรม มากกว่าการรักษาศีล ดังนั้นในแต่ละปีเงินที่ใช้ในการทำบุญจึงมีเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท แต่ในเวลาเดียวกันวามหย่อนยานในเรื่องศีล โดยเฉพาะศีล ๕ อันเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐาน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทย ยิ่งการบำเพ็ญภาวนาด้วยแล้ว ยิ่งมีน้อยลงไป อย่างไรก็ตามในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีความตื่นตัวในเรื่องสมาธิภาวนามากขึ้น มีสำนักปฏิบัติเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันคนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยก็หันมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมากขึ้น หนังสือเกี่ยวกับธรรมะได้รับความสนใจอย่างมาก จนกลายเป็นหนังสือประเภทหนึ่งที่ขายดีในเมืองไทย
ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสนาแบบฆราวาส คือ การที่ฆราวาสมีบทบาทมากขึ้นในพุทธศาสนา ขณะที่บทบาทของพระสงฆ์ลดน้อยลง นอกจากครูสอนธรรมทั้งปริยัติและปฏิบัติจะเป็นฆราวาสมากขึ้นแล้ว ฆราวาสที่เป็นผู้นำในพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ช่องว่างระหว่างฆราวาสกับพระมีมากขึ้น ฆราวาสมีความศรัทธาน้อยลงต่อพระสงฆ์ ขณะที่การศึกษาของฆราวาสก้าวหน้ามากขึ้น จนรุดหน้าพระสงฆ์ส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามยังมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณ มีบทบาททั้งด้านปฏิบัติและเผยแผ่ สามารถชักนำให้ฆราวาสหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง มีทั้งพระสงฆ์ในเมืองและพระสงฆ์ในป่า โดยเฉพาะประเพณีการปฏิบัติแบบวัดป่านั้นได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ฆราวาสนักปฏิบัติที่อยู่ในเมือง ในหลายปีที่ผ่านมาจึงมีผู้นิยมไปปฏิบัติในวัดป่าเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเห็นคุณค่าของการถือเพศพรหมจรรย์อย่างภิกษุ (เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยหันมาบวชภิกษุณี) นอกจากนั้นยังมีพระสงฆ์อีกมากที่มีบทบาทในงานพัฒนาชุมชนและการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งการสงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากทั้งในเมืองและชนบท
ในอดีตมีธรรมเนียมว่าผู้ชายที่นับถือพุทธศาสนา เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีจะต้องบวช ก่อนที่จะมีครอบครัว หรือได้ใช้ชีวิตในสมณเพศสักครั้งหนึ่งในชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย ๓ เดือน แต่ปัจจุบันธรรมเนียมนี้เลือนหายไปมาก หลายคนแม้จะบวช ก็บวชแค่ ๑๕ วัน หรือน้อยกว่านั้น ขณะที่ผู้ที่บวชนาน ๓ เดือนมีน้อยลงแม้กระทั่งในชนบท เพราะครอบครัวมีลูกน้อยลง (เฉลี่ย ๒ คน) จึงต้องการแรงงานไปช่วยในไร่นาไม่สามารถให้ลูกบวชพระได้นาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น