วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ในใจของพระองค์...ด้วยการกำหนดสติเฝ้าดูกาย
ดูใจอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยป่าเป็นส่วนประกอบในการทำความ
เพียรเพราะป่านั้นเงียบสงบ

ในความเงียบสงัด ก็จะมีความชุ่มเย็นอยู่ภายในนั้นเสมอ ป่า คือป่า
ป่าตรัสรู้ไม่ได้

ชาวป่าชาวเขาที่เกิดในป่า อยู่ในป่า จนกระทั่งตายในป่าก็ไม่เห็นมี
ใครจะตรัสรู้ได้

...'ใจ' เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ตรัสรู้ ธรรมะของพระพุทธศาสนาจึงเป็น
เรื่องของใจเท่านั้น

นักปฏิบัติส่วนมากยังไม่เข้าใจว่า ความสงบที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน
บางครั้งมีโอกาสอยู่กับสถานที่สงบแล้ว ยังบอกว่าไม่สงบ โดยโทษ
สิ่งภายนอกว่า เพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ อันเป็นเสียงบ้าง บุคคล
บ้าง สิ่งนั้นสิ่งนี้บ้างคือต้นเหตุของความไม่สงบ

จิตเกิดการผลักต้านปรากฏการณ์โดย ไม่รู้เท่าทันจิตปรุงแต่งของตน
จึงพยายามที่จะหนีไปให้ไกลจากสิ่งเหล่านั้น อยากไปอยู่ในป่าในเขา
ที่ไกลๆ หรือในถ้ำที่เงียบสงบ ซึ่งปราศจากผู้คนและเสียงต่างๆ ที่จะ
มารบกวนได้พยายามแสวงหาความสงบจากสิ่งภายนอก โดยเข้าใจ
เอาเองว่า ความสงบและไม่สงบนั้น เกิดจากสิ่งภายนอกเท่านั้น...

ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะพบความสงบที่แท้จริงได้สักที แม้จะพยายาม
หามานานแสนนาน ก็ยังหาไม่เจอ นั่นเพราะยังไม่เข้าใจ และยังหาไม่
ถูกจุดต่างหาก ขออธิบายว่า หากป่านอก ถ้ำนอกจะสงบเงียบแค่ไหน
แต่ป่าใน ถ้ำใน คือจิตใจของท่าน ยังไม่ยอมเงียบสงบ ป่านอกถ้ำนอก
ก็หาจะเงียบสงบสำหรับท่านไม่

เพราะความสงบหรือไม่สงบที่แท้จริงนั้น เกิดจากข้างในคือ จิตใจ
ของท่านต่างหากที่เป็นต้นเหตุ หากจิตภายในไม่สงบทุกที่ก็ไม่สงบ
จะอยู่ที่ไหนๆ มันก็ไม่สงบ

เสียงต่างๆและสิ่งต่างๆทางภายนอกนั้น มันเป็นธรรมชาติ มันเป็น
เช่นนั้นเอง ซึ่งท่านห้ามมันมิให้เกิดได้หรือไม่ และท่านห้ามหูตัวเอง
มิให้รับเสียง ห้ามตาตัวเองมิให้เห็นรูปได้หรือไม่ เมื่อห้ามไม่ได้ทำไม
ท่านไม่ห้ามใจตนเองล่ะ ด้วยการรับรู้แล้ว ปล่อยมันผ่านไปเสีย อย่า
ดูดรั้งหรือผลักต้าน

ดังนั้น ท่านจะต้องทำใจ ด้วยการ "รู้" แล้วปล่อยไปเท่านั้น
ดังเช่น..."ธรรมชาติของน้ำ คือน้ำที่ไม่ไหลขังไว้ย่อมเน่าฉันใด
จิตที่รู้เรื่องอะไรแล้วไม่ยอมปล่อย ย่อมทุกข์ฉันนั้น". และธรรม
ที่แท้นั้นเป็นกลางๆ ใครปล่อยวางได้ก็สบาย เบาใจไม่หนักใจ

เมื่อรู้ความจริงแล้วว่า เหตุเกิดแห่งความสงบและไม่สงบนั้น
อยู่ที่ใจ ก็จงแสวงหาป่าใจถ้ำใจให้พบเถิด ด้วยการมี...'สติ'จับรู้อยู่แต่ปัจจุบัน ภายในกายภายในใจตนเท่านั้น

ไม่ต้องคิดอยากทำสมาธิให้เจริญสติรู้อยู่กับปัจจุบันให้ได้ตลอด
สายเท่านั้น ผลนั้นก็จะเกิดเป็นสมาธิขึ้นมาเองในที่สุด เพราะสมาธิ
คือผลจากการเจริญสติต่างหาก

ยกตัวอย่าง...แม้แต่การนั่งสมาธิ กำหนดดูลมหายใจ ก็ต้องใช้
สติ เฝ้าดูเฝ้ารู้ลมที่เป็นปัจจุบันนั้นตลอดเวลา หากขาดสติตามดู
ตามรู้แล้ว สมาธิก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน เพราะเหตุ
ไม่มีผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุมีผลจึงมี "สติ" จึงเป็นแม่ทัพใหญ่
ในกองทัพธรรม สติเป็นมรรค สมาธิเป็นผล ซึ่งดลให้เกิดปัญญา

จงแสวงหาสติเถิด เพื่อให้เกิดเป็นสมาธิ อันเป็นจิตหนึ่งจริงๆ...
คือ...ความสงบที่แท้จริง...ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น